คำศัพท์พระเครื่อง
ความหมายของคำศัพท์ นอกเหนือจากพจนานุกรมแล้ว ยังมีคำศัพท์จำนวนมากที่ใช้กัน อยู่อย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ ทั้งวงการบันเทิง วงการกีฬา วงการการเมือง วงการไฮโซ วงการช่าง วงการแท็กซี่ ฯลฯ รวมทั้ง วงการพระเครื่อง จุดเด่นที่น่าสนใจของคำศัพท์เฉพาะวงการ คือ ความหมายจะแตกต่างจากคำแปลในพจนานุกรมอย่างสิ้นเชิง ความหมายจะแตกต่างกันเป็นคนละเรื่องกันเลย
นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ ผู้อำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร และ ประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง ซึ่งคร่ำหวอด อยู่ในวงการทำหนังสือ พระเครื่องมาหลายสิบปี บอกว่า ใน วงการพระเครื่อง มีคำศัพท์เกิดขึ้นมากมาย แต่จะเรียกว่า “ภาษาเซียน”
คำศัพท์เหล่านี้เป็นการพูดเล่นๆ กันก่อน จากนั้นก็พูดต่อๆ กันจนได้รับความนิยม วงการพระเครื่องมีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกวัน แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่ไม่มีการบันทึกคำศัพท์เหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน
ภาษาเซียน เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย เมื่อเซียนพระรุ่นก่อนๆ ตกยุคไป ภาษาเซียนก็จะตกยุคตามไปด้วย เช่น คำว่า ซาลูตู้ หมายถึง ใช้ไม่ได้ โง่ ไม่รู้เรื่อง หรือหมายถึง พระเก๊ คำนี้ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินพูดกัน แต่ก็มีหลายคำ ที่ยังถูกนำมาใช้กันในหมู่เซียนพระ เช่นคำว่า ตก *** สวด
ในขณะที่ นายอภิชัย กุลอนรรฆพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม เปี้ย ท่าพระจันทร์ พูดถึงที่มาของภาษาเซียนว่า จุดเริ่มต้นอยู่ที่ตลาดพระท่าพระจันทร์ เพราะเป็นตลาดซื้อพระเก่าแก่
การเกิดของภาษาเซียนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากพูดกัน ระหว่างเซียนพระก่อน จากนั้นก็ขยายวงกว้างออกสู่สนามพระอื่นๆ แต่ก็มีอยู่หลายคำที่มาจากคนภายนอก เมื่อเซียนพระได้ยินก็จะนำมาพูดต่อๆ กัน จนกลายเป็นภาษาเซียน
ส่วนเหตุผลที่ต้องมีภาษาเซียนนั้น น่าจะเป็นการพูดเพื่อป้องกันความปลอดภัยของตัวเซียนพระ โดยเฉพาะในหมวดของคำที่เกี่ยวข้องกับ “พระเก๊” หรือ “พระปลอม” จะมีการคิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมามากที่สุด
การจะบอกว่า พระองค์ใดองค์หนึ่งว่าเป็น พระปลอมจะทำให้เจ้าของพระโกรธ เพราะพระบาง องค์เจ้าของได้รับ การสืบทอดมาจากรุ่นทวด แต่เจ้าของ พระลืมไปว่า การปลอมพระมีกันมาตั้งแต่รุ่นทวดเช่นกัน
เปี้ย บอกด้วยว่า นอกจากภาษาเซียนแล้ว วงการพระยังมี ภาษามือด้วย โดยจะใช้นิ้วชี้แล้วงอนิ้วลงมา ซึ่งหมายถึงพระเก๊นั่นเอง หรืออาจจะพูดว่าหงิก แต่ใช้มือเป็นสัญลักษณ์แทน
ส่วนคำว่า ซาลูตู้ ซึ่งหมายถึง พระเก๊นั้น มาจากชื่อของผู้ชายจีนคนหนึ่ง คือ นายซูลู แซ่ตู้ วันหนึ่งได้นำพระนับร้อยองค์เข้ามาขายใน ตลาดท่าพระจันทร์ ปรากฏว่าเป็นพระเก๊ทั้งหมด จากนั้นเซียนพระก็จะใช้คำว่า ซาลูตู้ แทนการพูดว่าพระเก๊
ทางด้าน นายนุ เพชรรัตน์ เซียนพระรุ่นใหม่ บอกว่า นอกจากนักเลง พระรุ่นก่อนได้คิดภาษาเซียนแล้ว นักเลงพระยังตั้งบัญญัติ “อย่า ๑๐ ประการ” เป็นคำกลอนสอนเซียนด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าเซียนพระคนใดยึดปฏิบัติ วงการพระเครื่องก็น่าจะมีการพัฒนามากกว่านี้
“บัญญัติอย่า ๑๐ ประการ”
อย่า…ทำตนไถพระเขาฟรี อย่า…อวดดีอย่างคางคก
อย่า…ฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่า…ทำเก๋ชักดาบเขา
อย่า…มัวเมาเล่นจนหลง อย่า…พะวงพระลาวตกรถ
อย่า…ใจคดทุบหม้อข้าว อย่า…เช่าพระใกล้พลบค่ำ
อย่า…ลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่า…เชื่อหูแต่จงเชื่อตา
– หมวดที่ 1. ลักษณะพระเครื่อง
– หมวดที่ 2. เรื่องการซื้อขาย
– หมวดที่ 3. ทั่วไป